องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง

องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง 2023-01-20

การคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพเบื้องต้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กจากควันธูป ในกิจกรรมศาสนพิธีในผู้สูงอายุ

ผู้แต่ง : พวงผกา เจนไธสง และเบญจพร พวงจันทร์

วันที่เอกสารถูกเผยแพร่ครั้งแรก | 2023-01-20

ควันธูป มีองค์ประกอบของฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า ทั้ง PM10 และ PM2.5 ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในสถานที่รับควันธูปจำนวนมาก เช่น ศาลเจ้า วัด สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การศึกษานี้ ได้พิจารณาวัดอุทัยทิศ ในพื้นที่เมืองมหาสารคาม เป็นพื้นที่ศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อตรวจวัดความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กจากควันธูปในกิจกรรมศาสนพิธี และเพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้สูงอายุเบื้องต้น รวมถึงเสนอแนะแนวทางการจัดการควันธูปที่เหมาะสม โดยได้บ่งชี้ตำแหน่งตั้งเครื่องตรวจวัด โดยใช้ AirBeam และตรวจวัด โดยใช้เครื่องเก็บตัวอย่างฝุ่นปริมาตรสูง 8-Stages Cascade Impactor ตรวจวัดตลอดการดำเนินกิจกรรมศาสนพิธี เป็นระยะเวลา 40 นาที พร้อมสัมภาษณ์ข้อมูลจากผู้สูงอายุ จำนวน 75 คน ร่วมกับผู้แทนอาสาสมัครสาธารณสุขของชุมชนที่ได้รับเลือก สำหรับใช้ประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นและบ่งชี้ภาวะเสี่ยงด้านสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุที่เข้าร่วมทำกิจกรรมศาสนพิธี พบว่า ปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมโครเมตร (PM2.5) และ 10 ไมโครเมตร (PM10) เท่ากับ 0.7951 และ 1.7962 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ การประเมิน ความเสี่ยงด้านสุขภาพเบื้องต้น พบว่า มีสัดส่วนความเสี่ยงของ PM2.5 และ PM10 เท่ากับ 1.52 และ 1.56 ตามลำดับ (≤ 1 คือ ค่ายอมรับได้ต่อการสัมผัสฝุ่น) สะท้อนว่ามีภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กจากควันธูปขณะทำกิจกรรมศาสนพิธี

อ้างอิง : พวงผกา เจนไธสง และเบญจพร พวงจันทร์. การคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพเบื้องต้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กจากควันธูป ในกิจกรรมศาสนพิธีในผู้สูงอายุ. [วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต]. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2563.

หมายเหตุ :

Follow Us











© DUST INFORMATION. All Rights Reserved. Design by HTML Codex