องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง

องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง 2023-01-20

การศึกษาการเคลื่อนย้ายของหมอกควันระดับภูมิภาคจากการเผาไหม้ของมวลชีวภาพทางการเกษตร โดยใช้แบบจำลอง HYSPLIT: กรณีศึกษา เมืองมหาสารคาม

ผู้แต่ง : พาทิศ สิทธิโชติ

วันที่เอกสารถูกเผยแพร่ครั้งแรก | 2023-01-20

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกระจายตัวของจุดความร้อนที่สัมพันธ์กับการเผาในที่ โล่งแจ้ง โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวและอ้อยในภาคตะออกเฉียงเหนือและศึกษาการเคลื่อนย้ายของหมอกควันระดับภูมิภาคจากการเผาไหม้ของมวลชีวภาพทางการเกษตร ในช่วงเวลาที่มีค่าระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองสูง ได้แก่ เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ปี พ.ศ. 2562 โดยได้พิจารณาเมืองมหาสารคาม เป็นพื้นที่ศึกษา ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ โดยใช้ข้อมูลการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองและลม จุดความร้อนจากภาพถ่ายดาวเทียม Terra และ Aqua ระบบ MODIS การใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวนและตำแหน่งโรงงานน้ำตาลและโรงสีข้าว ควบคู่กับการใช้เทคนิคด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และการประยุกต์ใช้แบบจำลอง HYSPLIT จากการศึกษาพบว่าประเภทของการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ นาข้าวและอ้อย ขนาดพื้นที่นาข้าวและอ้อย จำนวนโรงงานน้ำตาลอ้อยและโรงสี มีความสัมพันธ์กับจำนวนจุดความร้อน ในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) และจำนวนจุดความร้อนทั้ง 3 เดือน มีค่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) จากการวิเคราะห์การเคลื่อนย้ายของหมอกควันสู่เมืองมหาสารคาม โดยใช้แบบจำลอง HYSPLIT ในวันที่ 11-15 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ระดับฝุ่นละอองสูง ในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงจังหวัดคือจังหวัดขอนแก่น พบว่า การเคลื่อนย้ายของฝุ่นละออง ส่วนใหญ่มาจากด้านตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพาดผ่านพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ซึ่งพบจุดความร้อนที่ระดับความเชื่อมั่นตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป เฉพาะพื้นที่นาข้าวและอ้อย คิดเป็นร้อยละ 13.5 35.6 25.9 22.2 และ 29.9 ตามลำดับ และบางส่วน จากด้านตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพาดผ่านจังหวัดร้อยเอ็ดและสุรินทร์ โดยพบจุดความร้อนคิดเป็นร้อยละ 46.8 และ 16.4 ตามลำดับ ทั้งนี้มีความสอดคล้องกับข้อมูลลมที่ตรวจวัดในเมืองมหาสารคาม ผลการศึกษานี้ เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ยังต้องศึกษาเชิงลึก ร่วมกับการใช้ข้อมูลการตรวจวัดฝุ่นละอองและอุตุนิยมวิทยาในพื้นที่เมืองมหาสารคามระยะยาว อย่างไรก็ตามผลการศึกษานี้สามารถเป็นข้อมูลสำหรับประกอบการตัดสินใจในการวางมาตรการป้องกันปัญหาหมอกควันกรณีของเมืองมหาสารคาม ในรูปแบบของการกำหนดเทศบัญญัติเทศบาลตำบล เรื่องการควบคุมควันไฟและฝุ่นละอองจากการเผา ให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่มีการเผาในที่โล่งแจ้ง รวมถึงการประยุกต์ใช้แนวทางตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่งของกรมควบคุมมลพิษ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน

อ้างอิง : พาทิศ สิทธิโชติ.การศึกษาการเคลื่อนย้ายของหมอกควันระดับภูมิภาคจากการเผาไหม้ของมวลชีวภาพทางการเกษตร โดยใช้แบบจำลอง HYSPLIT: กรณีศึกษา เมืองมหาสารคาม [วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต]. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2563.

หมายเหตุ :

Follow Us











© DUST INFORMATION. All Rights Reserved. Design by HTML Codex