องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง

องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง 2023-01-20

การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อการติดตามคุณภาพอากาศและการเฝ้าระวังด้านสุขภาพจากมลพิษจากฝุ่นละะอองในเมืองมหาสารคาม

ผู้แต่ง : กรรณ์วิกา รักดอนตาล และสุรีรัตน์ โสมโสก

วันที่เอกสารถูกเผยแพร่ครั้งแรก | 2023-01-20

ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร (Particulate matter with a diameter less than 2.5 micrometer หรือ PM2.5) กลายเป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่ได้รับความสนใจ ในหลายพื้นที่ที่กำลังขยายสู่ความเป็นเมือง การศึกษานี้ จึงได้พิจารณาพื้นที่เทศบาลเมืองมหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์และค้นหาพื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับการติดตามคุณภาพอากาศและอุตุนิยมวิทยา และเพื่อสร้างความตระหนักด้านผลกระทบของฝุ่นละอองต่อสุขภาพ สำหรับการรับมือและปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมือง ซึ่งพิจารณาควบคู่กับข้อมูลการตรวจวัดความเข้มข้นของ PM2.5 ตามเส้นถนน โดยใช้ AirBeam ครอบคลุม 17 ชุมชน ในเขตเมือง ทั้งนี้ ได้พิจารณาช่วงเวลาเร่งรีบ 2 ช่วงเวลา ได้แก่ เช้า (07:00-10:00 น.) และเย็น (15:00-18:00 น.) ทั้งวันทำงานและวันหยุด พร้อมทั้งสัมภาษณ์ข้อมูลจากชุมชน จำนวน 136 คน ร่วมกับผู้แทนอาสาสมัครสาธารณสุขของชุมชนที่ได้รับคัดเลือก ซึ่งใช้เป็นข้อมูล ในการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นและบ่งชี้พื้นที่เสี่ยงด้านสุขภาพ จากการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ โดยอาศัยเทคนิคสารสนเทศภูมิศาสตร์ พบว่า มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ในพื้นที่ทั่วไป จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ใกล้กับคณะแพทย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬามหาสารคาม คณะวิทยาศาสตร์การจัดการ (มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม) และคณะการจัดการและการสื่อสารสารสนเทศ (มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม) และพื้นที่ใกล้ถนน จำนวน 11 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ใกล้ถนนที่อยู่ใกล้คณะสัตวแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) โรงพยาบาลสุทธาเวชคณะแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) ศูนย์บริการทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬามหาสารคาม สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน คณะบัญชีและการจัดการ ม.เก่า (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) สถานีตำรวจเทศบาลเมืองมหาสารคาม สถานีตำรวจเทศบาลเมืองมหาสารคาม และโรงพยาบาลมหาสารคาม สำหรับการตรวจวัดความเข้มข้นของ PM2.5 ใน 2 ช่วงเวลาเร่งด่วน (เช้าและเย็น) พบว่า ในวันทำงาน (21 ก.พ. 2561) มีค่าเฉลี่ย 73.9±13.7 (เช้า) และ 64.0±22.9 (เย็น) มคก./ลบ.ม. ตามลำดับ และในวันหยุด (24 ก.พ. 2561) มีค่าเฉลี่ย 60.7±19.2 และ 55.7±28.1 มคก./ลบ.ม. ตามลำดับ และการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพเบื้องต้น ประกอบด้วย 1) การประเมินสิ่งคุกคาม โดยพื้นที่นี้ มีแหล่งกำเนิดที่เป็นไปได้ ได้แก่ การจราจร (การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง) การปิ้งย่าง (โดยเฉพาะบริเวณที่มีกิจกรรมหนาแน่น เช่น บริเวณตลาดห้าแยก) และการเผาในที่โล่งแจ้ง (เช่น การเผาขยะ) 2) การประเมินการสัมผัส ซึ่งพิจารณาเฉพาะช่วงเวลาเร่งรีบ ในที่นี้ คือ 6 ชั่วโมง โดยใช้ข้อมูลต่าง ๆ จากการสัมภาษณ์ประชาชน และ 3) การประเมินขนาดสัมผัสกับการตอบสนอง ซึ่งพิจารณาในรูปค่าสัดส่วนความเสี่ยงจากการศึกษา พบว่า มีค่าเท่ากับ 0.98 (≤1 คือ ค่ายอมรับได้ต่อการสัมผัสฝุ่น) ซึ่งได้เปรียบเทียบกับการตรวจวัด PM10 (คำนวณในรูป PM2.5, ระยะเวลา 24 ชั่วโมง) ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 (2-4 มิ.ย. 2560) ในบริเวณสถานีตำรวจและสี่แยกเจริญเดช พบว่า ค่าสัดส่วนความเสี่ยง เท่ากับ 0.52 และ 2.29 (มีเหตุขัดข้องด้านไฟฟ้าระหว่างการตรวจวัด) ซึ่งค่าดังกล่าว เข้าใกล้ค่ายอมรับต่อการสัมผัสฝุ่นและมีโอกาสสูงกว่า ซึ่งบ่งชี้ว่า เมืองมหาสารคาม ยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพของผู้อาศัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 9 พื้นที่ ตลอดจนควรมีการศึกษาคุณภาพอากาศเชิงลึกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ประชาชนที่พักอาศัย สามารถป้องกันตนเองเบื้องต้นได้ โดยการสวมใส่ผ้าปิดจมูกที่มีมาตรฐาน เมื่อจำเป็นต้องปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยง หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่/หรือพื้นที่ที่มีกิจกรรมเสี่ยงเป็นระยะเวลานาน และงดการเผาขยะในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีการพักอาศัยแออัดและการระบายอากาศทำได้ไม่ดีพอ

อ้างอิง : กรรณ์วิกา รักดอนตาล และสุรีรัตน์ โสมโสก. การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อการติดตามคุณภาพอากาศและการเฝ้าระวังด้านสุขภาพจากมลพิษจากฝุ่นละะอองในเมืองมหาสารคาม. [วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต]. มหาสารคาม: ม.มหาสารคาม, 2560

หมายเหตุ :

Follow Us











© DUST INFORMATION. All Rights Reserved. Design by HTML Codex