องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง

องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง 2023-01-20

การศึกษาการเคลื่อนย้ายของหมอกควันระดับภูมิภาคจากการเผาไหม้ของมวลชีวภาพทางการเกษตร โดยใช้แบบจำลอง HYSPLIT: กรณีศึกษาเมืองมหาสารคาม

ผู้แต่ง : พาทิศ สิทธิโชติและธายุกร พระบำรุง

วันที่เอกสารถูกเผยแพร่ครั้งแรก | 2023-01-20

การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกระจายตัวของจุดความร้อนที่สัมพันธ์กับการเผาในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวและอ้อยในภาคตะออกเฉียงเหนือและศึกษาการเคลื่อนย้ายของหมอกควันระดับภูมิภาคจากการเผาไหม้ของมวลชีวภาพทางการเกษตร ในช่วงเวลาที่มีค่าระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองสูง ได้แก่ เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ปี พ.ศ. 2562 โดยได้พิจารณาเมืองมหาสารคาม เป็นพื้นที่ศึกษา ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ ที่ใช้ข้อมูลการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองและลม จุดความร้อนจากภาพถ่ายดาวเทียม Terra/Aqua-MODIS การใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวนและตำแหน่งโรงงานน้ำตาลและโรงสีข้าว ควบคู่กับการใช้เทคนิคด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และการประยุกต์ใช้แบบจำลอง HYSPLIT จากการศึกษาพบว่า ประเภทของการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ นาข้าวและอ้อย ขนาดพื้นที่นาข้าวและอ้อย จำนวนโรงงาน/โรงสี มีความสัมพันธ์กับจำนวน จุดความร้อน ในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม อย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) และจำนวนจุดความร้อน ทั้ง 3 เดือน มีค่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) จากการวิเคราะห์การเคลื่อนย้ายของหมอกควันสู่เมืองมหาสารคาม โดยใช้แบบจำลอง HYSPLIT ในวันที่ 12-15 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ระดับฝุ่นละอองสูงในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง คือ จังหวัดขอนแก่น พบว่า การเคลื่อนย้ายของฝุ่นละออง ส่วนใหญ่มาจากด้านตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพาดผ่านพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ โดยพบจุดความร้อนที่ระดับความเชื่อมั่นตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป ในพื้นที่นาข้าวและอ้อย คิดเป็น ร้อยละ 13.5, 35.6, 25.9, 22.2 และ 29.9 ตามลำดับ และบางส่วนมาจากด้านตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพาดผ่านจังหวัดร้อยเอ็ดและสุรินทร์ โดยพบจุดความร้อน คิดเป็นร้อยละ 46.8 และ 16.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ มีความสอดคล้องกับข้อมูลลมที่ตรวจวัดในเมืองมหาสารคาม ผลการศึกษานี้ เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ยังต้องศึกษาเชิงลึก ร่วมกับการใช้ข้อมูลการตรวจวัดฝุ่นละอองและอุตุนิยมวิทยาในพื้นที่เมืองมหาสารคามระยะยาว อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษา สามารถนำมาเป็นข้อมูล สำหรับประกอบการตัดสินใจในการวางมาตรการป้องกันปัญหาหมอกควัน กรณีของเมืองมหาสารคาม ในรูปแบบของการกำหนดเทศบัญญัติเทศบาลตําบล เรื่อง การควบคุมควันไฟและฝุ่นละอองจากการเผา ให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่มีการเผาในที่โล่งแจ้ง รวมถึงการประยุกต์ใช้แนวทางตามแผนเเม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่งของกรมควบคุมมลพิษ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน

อ้างอิง : พาทิศ สิทธิโชติและธายุกร พระบำรุง. 2564. การศึกษาการเคลื่อนย้ายของหมอกควันระดับภูมิภาคจากการเผาไหม้ของมวชีวภาพทางการเกษตร โดยใช้แบบจำลอง HYSPLIT: กรณีศึกษาเมืองมหาสารคาม. ในการประชุมทางวิชาการทรัพยากรธรรมชาติ สารสนเทศภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 5 (หน้า 25-38). มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

หมายเหตุ :

Follow Us











© DUST INFORMATION. All Rights Reserved. Design by HTML Codex